หลักสูตรท้องถิ่น (เข้าชม 2899 ครั้ง)
ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่น
กรมวิชาการ (2536: 37) ให้ความหมายของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นไว้ว่า “การพัฒนาหลักสูตรในระดับท้องถิ่นเป็นกระบวนการของการนำหลักสูตรแม่บทไปสู่การปฏิบัติในห้องเรียนให้ได้ผลยิ่งขึ้น นับตั้งแต่การจัดทำรายวิชาขึ้นใหม่ การปรับใช้รายวิชาจากหลักสูตรแม่บท ตลอดจนการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและกระบวนการสอน การวัดผลและการประเมินผล เพื่อให้จัดการเรียนการสอนเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรอันเป็นแนวนโยบายของชาติ”
ความสำคัญของหลักสูตรท้องถิ่น
หลักสูตรท้องถิ่น เป็นหลักสูตรบูรณาการที่ผู้เรียน ชุมชนและครูร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียน เรียนจากชีวิต เรียนแล้วเกิดการเรียนรู้สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตอย่างมีคุณภาพและเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมอย่างมีความสุข การเรียนการสอนจะสอนตามความต้องการของผู้เรียน โดยครูเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ ผู้เรียนเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
ดังนั้น หลักสูตรท้องถิ่นจึงมีความสำคัญ ดังต่อไปนี้ (กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน. 2543 : 5 )
1. เป็นหลักสูตรที่ตอบสนองการเรียนรู้ของรู้เรียนเฉพาะเนื้อหาสาระของหลักสูตรสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนตามสภาพปัญหาที่เป็นจริง 2. ทำให้กิจกรรมการเรียนรู้มีความหมายต่อผู้เรียน เพราะผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ 3. ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการแสวงหาความรู้ เพื่อที่จะมาใช้เป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาในชีวิตจริงของตนเองในวันข้างหน้า รวมทั้งวิธีวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล เพื่อการตัดสินใจที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของตนเอง 4. ชุมชนและภูมิปัญญาในชุมชน มีโอกาสมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียน ซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชน
ลักษณะของหลักสูตรท้องถิ่น มีลักษณะดังต่อไปนี้ (กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน. 2543: 5)
1. เป็นหลักสูตรที่ตอบสนองความหลากหลายของปัญหามุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เหมาะสมกับเพศ วัย มีความสมดุลทั้งด้านความรู้ ความคิด และทักษะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติจริงจนเกิดทักษะและสามารถนำไปใช้กับสถานการณ์อื่นได้อย่างเหมาะสม 2. เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้ท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรของตนเอง เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ท้องถิ่นตนเอง เป็นการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนกับชีวิตจริงและการทำงาน รวมทั้งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรักและความผูกพันกับท้องถิ่นของตนมีการส่งเสริมให้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการศึกษา 3. เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตจริง และมุ่งเน้นการเรียนรู้อย่างบูรณาการ ไม่แยกส่วนของกระบวนการเรียนรู้ โดยผู้เรียนเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูจะเป็นผู้คอยให้คำแนะนำให้คำปรึกษา และช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน อันจะนำไปสู่การคิดเป็น ทำเป็น และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ 4. เป็นหลักสูตรที่สามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป 5. เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมในด้านศีลธรรม จริยธรรมและการธำรงไว้ซึ่งสังคมประชาธิปไตย การรักษาสิ่งแวดล้อม เกิดศรัทธาเชื่อมั่นในภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนและของประเทศชาติ
เหตุผลและความจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น
สงัด อุทรานันท์ (2532, หน้า 311) ได้กล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นว่า หลักสูตรท้องถิ่นเป็นหลักสูตรที่มีความสอดคล้องกับหลักการของการพัฒนาหลักสูตรได้มากที่สุดด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้ 1. ตามหลักการของหลักสูตรนั้น หลักสูตรที่สร้างขึ้นจำเป็นจะต้องมีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาและสนองความต้องการของสังคมชุมชนที่ใช้หลักสูตรนั้นๆ โดยเหตุนี้หากหลักสูตรที่สร้างขึ้นมีจุดมุ่งหมายสำหรับใช้ในชุมชนแห่งหนึ่งแห่งใดโดยเฉพาะก็ย่อมสามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมชุมชนนั้นได้มากที่สุด 2. ในการพัฒนาหลักสูตรได้มีการยอมรับความสำคัญของผู้ใช้และให้ผู้ใช้หลักสูตรมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร ในทางปฏิบัติหากหลักสูตรได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในระดับชุมชนที่ไม่กว้างขวางมากนักก็ย่อมสามารถเปิดโอกาสให้ผู้ใช้หลักสูตรได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรได้ นอกจากนี้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ยังกำหนดให้สถานศึกษาสร้างหลักสูตรสถานศึกษาซึ่งเป็นหลักสูตรที่เกิดจากการที่สถานศึกษานำสภาพต่างๆ ที่เป็นปัญหา จุดเด่น เอกลักษณ์ของชุมชน สังคม ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ มากำหนดเป็นสาระและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนบนพื้นฐานของหลักสูตรแกนกลาง และเพิ่มเติมสาระและมาตรฐานการเรียนรู้หรือรายวิชาได้ตามความถนัด ความสนใจของผู้เรียน โดยความร่วมมือของ ทุกคนในโรงเรียนและชุมชน หลักสูตรสถานศึกษาที่มีคุณภาพต้องเป็นหลักสูตรที่พัฒนามาจากข้อมูลสารสนเทศด้านต่างๆของ สถานศึกษาและชุมชน สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมีการระดมทรัพยากรทั้งของ สถานศึกษาและชุมชนมาอย่างคุ้มค่า เต็มตามศักยภาพ (กรมวิชาการ, 2545 ค. หน้า 5-6)
สรุปได้ว่า การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นมีความจำเป็นอย่างมากเพราะนอกจากภาระที่สถานศึกษาจะต้องจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาแล้ว การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรที่สถานศึกษาจะต้องจัดทำเพื่อให้กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงในชุมชนท้องถิ่นของตน |