หน่วยที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับลูกหมากเม่า (เข้าชม 1198 ครั้ง)
หน่วยที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับลูกหมากเม่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้น มีความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายทางพันธุศาสตร์ของพืชและสัตว์ โดยเฉพาะพืชแล้วเมืองไทยมีพันธุ์พืชมากมายทั้งที่เป็นพืชเศรษฐกิจ พืชพันธุ์ธรรมชาติ พืชที่ใช้เป็นอาหาร พืชที่เป็นสมุนไพร ยารักษาโรค บางชนิดเป็นได้ทั้งอาหาร สมุนไพรและยารักษาโรคในคราวเดียวกัน ในยุคสมัยแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางเทคโนโลยีจะมีใครซักกี่คนที่มองเห็นคุณค่าของพืชผักผลไม้ป่าพื้นบ้าน ที่มีคุณค่าทางโภชนาการและการรักษาโรค นอกจากนี้ยังสามารถที่จะแปรรูปเป็นสินค้าส่งออกสู่ต่างประเทศได้อีกด้วยและหนึ่งในผลไม้ป่าพื้นบ้านของไทยที่นี้ก็คือหมากเม่า หมากเม่า...ไม้ผลที่นานาชาติตระหนักในคุณค่า เม่า เป็นพืชในตระกูล Antidesma ที่พบกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ในหลายทวีป และด้วยคุณค่าของพืชในตระกูลนี้ทำให้ชนพื้นถิ่นในแต่ละพื้นที่มีการใช้ประโยชน์จากพืชตระกูลนี้ในหลากหลายรูปแบบด้วยกัน การบริโภคเม่าเป็นอาหารได้ปฏิบัติกันมานานในหลายประเทศ โดยส่วนใหญ่จะบริโภคผลสด ในประเทศไทย อินเดีย และอินโดนีเซีย มีการบริโภคใบ และยอดของพืชในกลุ่ม Antidesma ทั้งรับประทานผลสดหรือผสมอาหารเพื่อให้มีรสเปรี้ยว (Hoffman, 2005) โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยนิยมรับประทานผลสด โดยการนำมาปรุงรสคล้ายกับส้มตำที่เรียกว่า ตำหมากเม่า หรือใช้เปลือกต้นหรือใบมาโขลกรวมกับพริกสด และน้ำปลาร้า เรียกว่าตำเมี่ยง นิยมรับประทานในฤดูร้อนโดยรสฝาดจากเปลือกต้นและใบจะช่วยลดอาการท้องเสียได้ จะเห็นได้ว่านอกจากประโยชน์ในด้านการเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว พืชในกลุ่ม Antidesma ยังมีคุณค่าทางเภสัชอีกด้วย ประเภทและพันธุ์หมากเม่า 1. หมากเม่าตาควายหรือเม่าสร้อย 2. หมากเม่าช้าง 3. หมากเม่าไข่ปลา 4. หมากเม่าขน 5. หมากเม่าสาย 6. หมากเม่าหลวง 7. หมากเม่าเหล็ก
จากเดิมเม่าหลวงเป็นเพียงผลไม้พื้นบ้าน ที่รู้จักและบริโภคกันเฉพาะในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเม่าหลวงกลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีผู้บริโภคเม่าหลวงในรูปผลสดและในลักษณะผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเม่าหลวงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง เพราะเป็นพืชที่เกิดเองตามธรรมชาติโดยใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตค่อนข้างน้อย อาจกล่าวได้ว่า การให้ความรู้ด้านคุณค่าทางโภชนาการและการนำผลเม่าหลวงที่มีอยู่ในธรรมชาติมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ให้กับไม้ผลท้อง ถิ่นชนิดนี้อีกทางหนึ่ง ทำให้มีอุปสงค์มากขึ้นส่งผลให้ราคาของเม่าหลวงสูงขึ้น จากเดิมที่เคยปล่อยทิ้งขว้างหรือจำหน่ายเพื่อกินผลสดราคาประมาณกิโลกรัมละ 10-15 บาท แต่ในปัจจุบันราคากลับเพิ่มสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 25-45 บาท ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะใช้เม่าหลวงเป็นแหล่งวัตถุดิบ เพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรมอาหารมากยิ่งขึ้น
ลักษณะลำต้นของต้นหมากเม่า
ต้นหมากเม่า
หมากเม่าเป็นไม้ยืนต้นสูงของไทย เกิดในป่าตามธรรมชาติ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสกลนคร เทือกเขาภูพาน ปัจจุบันมีการขยายพันธุ์ และปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีลูกดกและมีเนื้อมาก ลูกโต หมากเม่า เป็นผลไม้ที่อุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร แร่ธาตุ วิตามินเช่น โปรตีน ใยอาหาร คาร์โบไฮเดรต แคลเซี่ยม เหล็ก วิตามิน บี 1 บี 2 ปริมาณสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้อายุยืน สุขภาพแข็งแรง ลดความเสี่ยงจากมะเร็ง (จากนิตยสารใกล้หมอ) มีกรดอะมิโนซึ่งมีประโยชน์ต่อ ร่างกาย หมากเม่า จะมีผลสีเขียวเมือเริ่มเป็นลูก แล้วจะเปลี่ยนเป็นผลสีแดงเมื่อใกล้สุก แต่จะมีรสเปรี๊ยว ต่อจากนั้นเมื่อผลสุกเต็มที่จะมีสีดำจะมีรสหวานอมเปรี้ยว และฝาดเล็กน้อย |